ลิงลมใต้

Greater Slow Loris, Sunda Slow Loris

Nycticebus coucang

ลิงลมใต้มีความยาว 27-38 เซนติเมตร หนัก 599-685 กรัม มีแถบขาวพาดตั้งแต่หน้าผากพาดระหว่างดวงตาและเรียวสอบไปจรดปลายจมูก ขนตามลำตัวสีครีม มีเส้นสีคล้ำพาดตามแนวสันหลัง หางสั้นกุดจนแทบสังเกตไม่เห็น ใบหูเล็ก ดวงตากลมใหญ่ นิ้วชี้เล็ก ตัวผู้และตัวเมียดูเหมือนกัน ฟันหน้าเป็นซี่เล็กเรียงกันเหมือนหวี 

ลิงลมใต้ (Nycticebus coucang(ภาพโดย David Haring Duke Lemur Center)


ในประเทศไทยพบลิงลมสองชนิด คือ ลิงลมใต้ (Nycticebus coucangและลิงลมเหนือ (Nycticebus bengalensisลิงลมทั้งสองชนิดมีลักษณะภายนอกคล้ายกันมากจนจำแนกได้ยาก บางแหล่งถือว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน ในบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ก็เรียกรวมกันว่า ลิงลม และใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Nycticebus coucang

ลิงลมใต้พบได้ในเกาะสุมาตรา  คาบสมุทรมลายูรวมถึงสิงค์โปร์ เขตกระจายพันธุ์ที่แท้จริงของลิงลมใต้ในประเทศไทยยังไม่ชัดเจนนัก บางพื้นที่ก็พบลูกผสมของสองชนิดนี้ ข้อมูลจากไอยูซีเอ็นระบุว่าลิงลมใต้ในประเทศไทยพบเฉพาะตอนใต้สุดของประเทศทางปลายด้ามขวาน ส่วน animaldiversity และวิกิพีเดียระบุว่าพบตั้งแต่คอคอดกระลงไป ซึ่งหากเป็นกรณีหลัง แสดงว่าในเขตภาคใต้ของไทยจะมีทั้งลิงลมใต้และลิงลมซุนดาใช้พื้นที่ร่วมกัน 



ลิงลมใต้ชอบอาศัยในป่าดั้งเดิม ป่าชั้นสอง ในพื้นที่กสิกรรม ป่าฝน ป่าเต็งรัง ป่าบึง พบได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แต่ละตัวมีพื้นที่หากินตั้งแต่ 13-81 ไร่ หากอาศัยในป่าดั้งเดิมก็จะใช้พื้นที่หากินน้อย ตัวผู้ตัวหนึ่งมักใช้อาณาเขตซ้อนเหลื่อมกับอาณาเขตของตัวเมียหลายตัว อาหารหลักน้ำเลี้ยงของต้นไม้ รองลงไปคือผลไม้ ใบไม้ ไข่นก ปกติเป็นสัตว์รักสันโดด แต่ในแหล่งเพาะเลี้ยงพบว่าลิงลมใต้ก็ปรับตัวกลายเป็นสัตว์สังคมได้ 

ลิงลมใต้เป็นสัตว์มีพิษ เช่นเดียวกับ ลิงลมในสกุล Nycticebus ชนิดอื่น

ลิงลมใต้เมื่อตัวเมียพร้อมจะผสมพันธุ์ จะโหนตัวอยู่ใต้กิ่งไม้ให้ตัวผู้ได้เห็น บางครั้งก็ส่งเสียงเรียกร้องความสนใจเพิ่ม กลิ่นเยี่ยวของตัวเมียก็เป็นสิ่งเย้ายวนตัวผู้ให้เข้ามาผสมพันธุ์ได้เช่นกัน ลิงลมตัวเมียตัวหนึ่งจะจับคู่กับตัวผู้ได้หลายตัว ลิงลมใต้ติดสัดได้หลายครั้งต่อปี คาบการติดสัดยาว 29-45 วัน ตั้งท้องนาน 188 วัน ออกลูกครั้งละตัว ลูกแฝดก็พบได้บ้าง ลูกน้อยเมื่ออายุได้ 3-6 เดือนก็หย่านม ลิงลมตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 18-24 เดือน ส่วนตัวผู้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 17-20 เดือน 

แม้จะลิงลมจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ดี แต่ก็ไม่อาจหลีกหนีภัยคุกคามชนิดหนึ่งที่เป็นเหมือนคำสาปของวานรชนิดนี้ นั่นคือการถูกจับมาเป็นสัตว์เลี้ยง เมื่อลิงลมถูกจับมาเป็นสัตว์เลี้ยงจะถูกถอนฟันออก ซึ่งมันนำมาสู่การติดเชื้อหรือถึงตาย เมื่อลิงลมถูกถอนฟันแล้ว ย่อมหมายความว่าหมดโอกาสกลับไปใช้ชีวิตในธรรมชาติได้อีก ลิงลมในสุมาตราถูกจับมาเป็นสัตว์เลี้ยงมากจนมีผลต่อจำนวนประชากร นอกจากนี้ในบางพื้นที่ลิงลมก็ถูกฆ่าโดยเกษตรกรเพราะมองว่าลิงลมเป็นตัวทำลายพืชไร่ นายพรานในไทยก็มักมองลิงลมว่าเป็นสัตว์อัปมงคล หากพบขณะออกล่าสัตว์ก็จะทำให้ไม่ได้สัตว์ที่ต้องการ ลิงลมจึงมักถูกยิงทิ้งด้วยความชิงชัง ภัยคุกคามเหล่านี้ทำให้ประชากรลิงลมลดลงไปมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ภายในสามชั่วรุ่น (ราว 24 ปี) ไอยูซีเอ็นจัดอยู่ในระดับอันตราย (2563) 
Nycticebus coucang
ชื่อไทยลิงลมใต้
ชื่อวิทยาศาสตร์Nycticebus coucang
ชั้นMammalia
อันดับPrimates
วงศ์Lorisidae
สกุลNycticebus

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 12 พ.ย. 66 แก้ไขครั้งล่าสุด : 12 ธ.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai